คดีหมายเลขดำที่
๑๓๒๑/๒๕๕๕
คดีหมายเลขแดงที่
๑๔๑๙/๒๕๖๐
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองกลาง
๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๐
ระหว่าง ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ นายมานิต ศรีวานิชภูมิ
ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ นางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ ๓
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
************************************************************
ในประเด็นที่กรรมการเซ็นเซอร์
พิจารณาผ่านหนังตัวอย่างภาพยนตร์ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’
ซึ่งก็มีฉากที่กรรมการเรียกว่า ‘ฉาก ๖ ตุลา’ โดยไม่มีคำแย้งใดๆ แต่อ้างว่ารับฉากเดียวกันไม่ได้
ในภาพยนตร์ :
“ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การเพิ่มเติมทำนองเดียวกับคำให้การและเพิ่มเติมว่า...
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ได้พิจารณาสื่อโฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมดแล้วเห็นว่าถูกต้องตามมาตรา ๒๕ มาตรา
๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๒
วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงใช้ดุลพินิจอนุญาตให้นำออกฉาย
โดยการพิจารณาสื่อโฆษณาภาพยนตร์ ไม่ใช่ข้อยกเว้นการตรวจเนื้อหาของภาพยนตร์ตามมาตรา
๒๗
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ แต่อย่างใด” (หน้า ๑๕)
ในเรื่องคำให้การของ
ผู้ถูกฟ้อง ซึ่งขัดแย้งต่อคำให้การของ ผู้ฟ้อง ๑ ว่าอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย
ได้สรุปกับเขาว่า เรื่องนี้จะจบลงด้วยการประนีประนอม คือ เรทติ้ง ๒๐ (อนึ่ง ผู้ฟ้อง ๒
ไม่ได้เข้าร่วมประชุม):
“อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่
๑
โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายและด้านวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์
พ.ศ. ๒๕๕๑ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการฯ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
แต่งตั้งก็ได้พิจารณาถึงความเป็นธรรม
โดยแจ้งผู้ฟ้องคดีทั้งสองเข้าร่วมประชุมชี้แจงในการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๕๕ วันที่
๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ และผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้แจ้งความประสงค์ยืนยันไม่ขอแก้ไขใดๆ
เช่นเดียวกัน จึงเห็นได้ว่า
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แล้ว
แต่เลือกที่จะไม่ดำเนินการตามที่หน่วยงานผู้พิจารณาอุทธรณ์แจ้งเพื่อให้ภาพยนตร์ได้รับการอนุญาตให้นำออกฉายฯ
และยืนยันไม่แก้ไขใดๆ ซึ่งภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนและเป็นสิ่งที่แทรกซึมสู่วัฒนธรรมโดยง่าย
มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
จึงเป็นภารกิจหลักที่รัฐต้องรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันภัยอันตรายที่จะมีมา
ทั้งภัยจากภายนอกและภายในประเทศ รวมถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งกันของคนในสังคมเพื่อให้เกิดความสงบสุข
โดยพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑
ถือเป็นเครื่องมือของรัฐอย่างหนึ่งในการรักษาความมั่นคงของรัฐ
ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
มีหน้าที่เพื่อดำเนินการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า
แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่ให้กระทบความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความแตกแยกกันทางความคิดและอุดมการณ์ในสังคมประเทศไทยอย่างสุดขั้ว เป็นเหตุการณ์รุนแรงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมากซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดต้องการให้เกิดขึ้น
อันมีลักษณะคล้ายกับสถานการณ์ของประเทศไทยในอดีตและปัจจุบันที่เพิ่งผ่านมา เมื่อนำเหตุการณ์ในช่วงวันที่ ๖ ตุลาคม
๒๕๑๙
ซึ่งมีเนื้อหาที่แสดงการไม่พอใจของนักแสดงและมีการเข้าทำร้ายคณะนักแสดง
โดยจับผู้กำกับละครแขวนคอและทุบตีด้วยสิ่งของมาเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาสาระของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบของสังคมบ้านเมือง อาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเกิดขึ้นซ้ำอีก
ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ภาพยนตร์ในต่างประเทศ เรื่อง Innocence of Muslims ที่ส่งผลให้เกิดความแตกแยกรวมถึงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในชาติเดียวกัน และชาติอื่นๆ
โดยไม่มีผู้ใดควบคุมสถานการณ์ได้
อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของภาพยนตร์ที่มีผลต่อความคิดของบุคคลและอาจสร้างความแตกแยกของคนในสังคมในวงกว้างได้
ทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามย่อมไม่ประสงค์ให้มีเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นในประเทศไทย และการกล่าวถึงสัญลักษณ์สีเหลืองสีแดงเป็นการยกตัวอย่างให้เห็นถึงฉากที่แสดงให้เห็นว่าเป็นสังคมไทย
มิใช่ประเทศที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองสมมุติขึ้น
โดยไม่ได้อ้างว่าการมีสัญลักษณ์สีเหลืองสีแดงในภาพยนตร์แล้วจะทำให้เกิดการแตกความสามัคคีหรือความรุนแรง…” (หน้า ๑๕-๑๖)
ในเรื่องความไม่ปกติของกระบวนการ
ซึ่งถูกแทรกซึมหรือกดดันโดยอิทธิพลและอำนาจทางการเมืองได้โดยง่าย ตามที่ปรากฏขึ้นในการปฏิบัติอย่างมีอภิสิทธิ์ ต่อภาพยนตร์เรื่อง ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ ที่ถูกสั่งแบนอย่างเป็นทางการด้วยข้อหาทางความมั่นคงเช่นกัน
เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติดุจล่าแม่มด ต่อ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’:
“ส่วนกรณีภาพยนตร์เรื่อง
ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (คณะที่ ๑)
ได้ตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่าควรแก้ไขภาพยนตร์บางส่วน
จึงแจ้งให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการแก้ไข เมื่อผู้ขออนุญาตได้แก้ไขแล้ว
จึงมีมติอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้”
(หน้า
๑๖)
“ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า
มีภาพยนตร์ที่นำเสนอเหตุการณ์ทำนองเดียวกับภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตายแต่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักร
เช่น ภาพยนตร์เรื่อง “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง”
หรือ “Boundary”และเรื่อง “มหาลัย’สยองขวัญ” การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย
ออกเผยแพร่ในราชอาณาจักรจึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมนั้น...
…เห็นว่า แม้ฉากบางฉากของภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะมีความคล้ายคลึงกันก็ตาม
แต่ภาพยนตร์แต่ละเรื่องย่อมมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันออกไป
อันเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ที่จะตรวจพิจารณาภาพยนตร์ดังกล่าว พร้อมทั้งจำแนกประเภทภาพยนตร์
และมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักรได้ภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ของกฎหมาย
ซึ่งในกรณีนี้ไม่ปรากฏข้ออ้างหรือพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า
ภาพยนตร์เรื่องที่กล่าวอ้างมีการนำเสนอความชัดเจนของฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่แสดงภาพที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ
ดังเช่นที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง
เชคสเปียร์ต้องตายของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง อันจะทำให้สามารถรับฟังได้ว่า
เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ส่วนกรณีภาพยนตร์เรื่อง “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” (Boundary) นั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ (คณะที่ ๑) ได้ตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่าควรแก้ไขภาพยนตร์บางส่วน จึงได้แจ้งให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการแก้ไข ซึ่งผู้ขออนุญาตได้แก้ไขภาพยนตร์ดังกล่าวตามที่ได้รับแจ้งแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
จึงได้มีมติกำหนดประเภทภาพยนตร์โดยจัดให้อยู่ในภาพยนตร์ประเภทใดประเภทหนึ่งตามมาตรา
๒๖ (๑) ถึง (๖) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ตามข้อ ๗ ของประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
...
…ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร และมีคำสั่งอนุญาตให้ภาพยนตร์ดังมีรายชื่อข้างต้นเผยแพร่ได้
จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า เป็นการปฏิบัติต่อเรื่องที่เหมือนกันในสาระสำคัญให้แตกต่างกัน
ที่จะถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใด” [หน้า ๒๘ – ๒๙]
“สำหรับข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ว่า
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
มิได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแก้ไขหรือตัดทอนเนื้อหาตอนใดหรือฉากใด หรือตอนหนึ่งหรือหลายตอนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
เห็นว่ามีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ก่อนมีคำสั่งไม่อนุญาตให้นำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเผยแพร่ในราชอาณาจักร
ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่อาจทราบได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ ต้องการให้แก้ไขมากน้อยเพียงใดนั้น เห็นว่า
เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้เข้าร่วมประชุมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕ ด้วย การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ให้เหตุผลในการยืนยันไม่แก้ไขหรือตัดทอนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองประสงค์นำเสนอความจริงในเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๖
ตุลาคม ๒๕๑๙ ของประเทศไทย [เราเป็นผู้เน้นข้อความ] อีกทั้ง เมื่อพิจารณาหนังสืออุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองฉบับลงวันที่ ๑๗
เมษายน ๒๕๕๕ ในข้อที่ ๓ หน้าที่ ๔ และหน้าที่ ๕ แล้ว
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองรับว่าได้มีการถกเถียงกันอย่างมากถึงฉาก ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
และฉากที่มีการใช้สีแดง ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทราบและเข้าใจแล้วว่า
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
เห็นว่าฉากหรือเนื้อหาของภาพยนตร์ในส่วนใดบ้างที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ
ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประสงค์ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแก้ไขหรือตัดทอน
เนื่องจากเป็นฉากหรือเนื้อหาส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ใช้อ้างเป็นเหตุผลในการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้เผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในราชอาณาจักร
กรณีจึงถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแก้ไขหรือตัดทอนเนื้อหา ก่อนมีคำสั่งไม่อนุญาตดังกล่าวตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญสำหรับการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้นำภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ในราชอาณาจักรตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
ส่วนกรณีผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒
สามารถกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์เพื่อให้เหมาะสมกับวัยและประเภทของผู้ดูภาพยนตร์ได้
นั้น เห็นว่า
เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองยืนยันที่จะไม่แก้ไขหรือตัดทอนเนื้อหาในส่วนดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ย่อมไม่อาจพิจารณากำหนดประเภทภาพยนตร์โดยจัดให้อยู่ในภาพยนตร์ประเภทใดประเภทหนึ่งตามมาตรา
๒๖ (๑) ถึง (๖)แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้
เนื่องจากมิใช่กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยินยอมให้แก้ไข
หรือตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์บางส่วนออก เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
สามารถจัดประเภทภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวใหม่ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองประสงค์จะขออนุญาต…” (หน้า ๒๖)
ในเรื่องการสอบสวนโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ซึ่งประกอบด้วยการซักถาม ๒ ครั้ง; ครั้งแรก
รองปลัดเป็นผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม
ครั้งที่ ๒ ปลัดกระทรวงเป็นผู้เข้าร่วมประชุม (ไม่มีการกล่าวถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านสิทธิเสรีภาพ
สภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ & รายงานสภาวะสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยปี
๒๕๕๕ของสหรัฐอเมริกา):
“ส่วนกรณีรายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแนบท้ายในคำคัดค้านคำให้การนั้น
ไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครอง สำหรับกรณีคณะอนุกรรมการฯ
มีมติให้เสนอมาตรการและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ ทบทวนคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย
โดยกำหนดอายุผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้
จัดอยู่ในประเภทภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ที่มีอายุสิบแปดปีขึ้นไป
และจัดทำข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์
พ.ศ. ๒๕๕๑
อันถือว่าเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๕๐ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ด้านการคุ้มครองฯ)
ได้พิจารณาคำร้องในคราวประชุมครั้งที่ ๑๖/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖ แล้ว
เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ
แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒
ต่อศาลปกครองเป็นคดีนี้แล้ว [ผู้เดือดร้อนต้องฟ้องศาลปกครองภายใน ๙๐ วันหลังการละเมิด]
กรณีจึงต้องด้วยมาตรา ๒๒
แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงไม่อาจที่จะใช้อำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขต่อไปได้
คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรยุติเรื่อง
ดังนั้น
ความเห็นและมติของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะรับเรื่องไว้พิจารณา
โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ซึ่งมิใช่องค์กรผู้มีอำนาจพิจารณาเนื้อหาสาระของภาพยนตร์...
เอกสารที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองส่งมาเพิ่มเติมจึงเป็นเพียงความคิดเห็นขององค์กรอื่นซึ่งยังไม่อาจรับฟังได้…” (หน้า ๑๖-๑๗)
ในประเด็นว่าภาพยนตร์เรื่อง
‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือไม่:
“เห็นว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.
๒๕๕๑
และกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้บัญญัตินิยามความหมาย และลักษณะของเนื้อหาในภาพยนตร์ที่จะถือเป็นการ
“ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ”
เพื่อเป็นกรอบกำกับการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไว้เป็นการเฉพาะ
ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้นิยามความหมาย คำว่า “สามัคคี”
หมายความว่า ความพร้อมเพรียงกัน ความปรองดองกัน ที่พร้อมเพรียงกันทำ ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ คำว่า “แตก” หมายความว่า แยกออกจากส่วนรวม ทำให้แยกออกจากส่วนรวม คุมหรือควบคุมไว้ไม่อยู่ และคำว่า “ชาติ” หมายความว่า ประเทศ
ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ
กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ
ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์
ความเป็นมา
ขนบธรรมเนียมประเพณี
และวัฒนธรรม อย่างเดียวกัน
หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน จากคำนิยามดังกล่าวจึงพออนุมานความหมายของคำว่า “การแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ”
ได้ว่า หมายถึง การทำให้ประเทศ ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา
ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา
ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม อย่างเดียวกัน
หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน
เกิดความไม่พร้อมเพรียงกัน
เกิดความไม่ปรองดองกัน
เกิดความรู้สึกที่แตกแยกกัน
ดังนั้นการที่จะพิจารณาว่า
เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องใดก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าเนื้อหาและองค์ประกอบโดยรวมตามที่ปรากฏในภาพยนตร์ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในชาติเดียวกันว่าทำให้เกิดความรู้สึกที่แตกแยกกันหรือไม่
และในการวินิจฉัยสาระสำคัญของเรื่องที่ภาพยนตร์มุ่งนำเสนอและประสงค์สื่อให้ผู้ชมรับรู้ผ่านการชมภาพยนตร์ ยังเป็นกรณีที่ไม่อาจนำแต่เฉพาะฉากใดฉากหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพยนตร์มาพิจารณาแบบแยกส่วนได้
เพราะภาพยนตร์สื่อความหมายและเล่าเรื่องตามโครงเรื่องที่เป็นเหตุการณ์อันเกิดขึ้นโดยมีจุดเริ่มต้นพัฒนาและดำเนินไปจนถึงจุดสิ้นสุดหรือบทสรุปของเรื่อง
และมีตัวละครแสดงบทบาทพฤติกรรมตามปมความขัดแย้งที่มีการเฉลยและคลี่คลายหรือทิ้งท้ายให้ขบคิด
การวินิจฉัยสาระสำคัญของเรื่องจึงต้องพิเคราะห์เนื้อหาทั้งหมดของภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่อง แก่นของเรื่อง
บทสนทนา
และบทสรุปอย่างเชื่อมโยงเรียงร้อยเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อให้พบแนวคิดหรือแก่นสารที่ภาพยนตร์มุ่งนำเสนอต่อผู้ชมอันเป็นสาระสำคัญของเรื่อง ดังนั้นในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้
จึงจำเป็นต้องพิจารณาเนื้อหาสาระสำคัญของภาพยนตร์โดยตลอดเรื่องอย่างเชื่อมโยงเรียงร้อยเป็นเนื้อเดียวกันว่า
มีเนื้อหาเข้าลักษณะก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติหรือไม่” (หน้า ๒๒ - ๒๓)
“เมื่อพิจารณาภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแล้วเห็นว่า
แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะกล่าวว่าประเทศในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นประเทศสมมุติก็ตาม
แต่โดยที่มีเนื้อหาหลายฉากหลายตอน
สื่อให้เห็นได้ว่าเป็นสภาพสังคมไทยและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น ฉากเวลา
๑๘.๕๗ นาที การแต่งกายของนักแสดงหญิงมีลักษณะเหมือนการแต่งกายของคนไทยโบราณ
และการแต่งกายของนักแสดงชายมีการนุ่งผ้าแบบวัฒนธรรมไทย
ฉากเวลา ๓๒.๓๗ นาที การแต่งกายของนักแสดงบ่งบอกถึงลักษณะของคนไทย
ฉากตั้งแต่เวลา ๑ ชั่วโมง ๐๘.๑๔ นาที
ถึงเวลา ๑ ชั่วโมง ๑๑.๔๓ นาที เป็นฉากการขายกาแฟโบราณแบบรถเข็น โดยที่รถเข็นมีตัวอักษรเขียนว่า “กาแฟโบราณ” และคำว่า “สูตรดั้งเดิม” บ่อบอกถึงลักษณะของสังคมไทย ฉากเวลา ๑ ชั่วโมง ๑๑.๔๕ นาที คนดูละครมีการแต่งตัวและเครื่องแต่งกายสื่อถึงลักษณะของคนไทย
ฉากเวลา ๑ ชั่วโมง ๕๔.๐๐ นาทีเป็นฉากเรือที่มีความคล้ายคลึงกับเรือสุพรรณหงส์
ฉากเวลา ๒ ชั่วโมง ๓๗.๕๘ นาที
ผู้ประท้วงชูแผ่นป้ายโดยใช้ภาษาไทย รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ
ล้วนสื่อให้เห็นว่าเป็นสภาพสังคมไทย มิใช่ประเทศสมมุติตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้าง
สำหรับฉากตั้งแต่เวลา ๒ ชั่วโมง ๔๓.๒๓
นาที ถึงเวลา ๒ ชั่วโมง ๔๕.๔๐ นาที ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ เห็นว่า คล้ายกับเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อันเป็นฉากที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาตินั้น
เป็นฉากที่มีกลุ่มผู้ชายใส่เสื้อสีดำโพกผ้าสีแดงที่ศีรษะจำนวนหนึ่งถือท่อนไม้วิ่งเข้าไปในโรงละครแล้วทำร้ายคนดูละคร
คณะนักแสดง จับผู้กำกับละครแขวนคอ โดยมีชายสวมแว่นดำซึ่งเป็นผู้ที่เคยเข้าไปดูละครคนหนึ่งถือเก้าอี้เหล็กพับทุบตีที่ร่างกายของผู้กำกับละครที่ถูกแขวนคอ
โดยมีกลุ่มผู้ชายโพกผ้าสีแดงที่ศีรษะส่งเสียงสนับสนุนการกระทำ เห็นว่า
แม้ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องนำประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตที่มีความขัดแย้งของคนในชาติมาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ตาม
แต่ประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตดังกล่าวนั้นเป็นประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมาแล้วหลายร้อยปีจนคนไทยในปัจจุบันไม่อาจสืบสาวราวเรื่องได้ว่าบุคคลในประวัติศาสตร์ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือเป็นญาติพี่น้องกับตนหรือไม่
อย่างไร ภาพยนตร์ดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดความเคียดแค้นชิงชัง
ต่างจากภาพยนตร์ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเรื่องนี้ที่ได้มีการนำเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่
๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัยมาไว้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์และมีความยาวในฉากดังกล่าวถึง
๒ นาทีเศษ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นแก่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตหรือผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว
ทำให้เกิดความเคียดแค้นชิงชัง อันอาจเป็นชนวนให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติได้
ประกอบกับเมื่อในการเข้าร่วมประชุมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทภาพยนตร์ในฉากดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยืนยันที่จะไม่ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ทั้งที่สามารถดำเนินการได้โดยมิส่งผลกระทบต่อเนื้อหาสำคัญของเรื่อง รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับด้านมืดและด้านสว่างของมนุษย์
บาปบุญคุณโทษผลกรรม และการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรมภายในจิตใจคน ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองประสงค์จะนำเสนอให้ผู้ชมภาพยนตร์ได้รับรู้
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย ออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร โดยให้เหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ
จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ตามบันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕
ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย ออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อวินิจฉัยแล้วว่า
คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ ๓/๒๕๕๕ เมื่อวันที่
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ และมีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
จึงเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน” (หน้า ๒๔ – ๒๖)
ในประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด:
“ส่วนข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ว่า
คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำภาพยนตร์เรื่อง
เชคสเปียร์ต้องตาย ออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา
๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ นั้น...(หน้า ๒๗) เห็นว่า
มาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีข้อพิพาท บัญญัติว่า
การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย
เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ มาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม วรรคสอง
บัญญัติว่า
การจำกัดสิทธิเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้
เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ
การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค
การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ
การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน
หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด
การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา
และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
วรรคสอง บัญญัติว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้
เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง
สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือเพื่อป้องกันหรือระงับ ความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นรากฐานความดีงามของสังคมไทยที่รัฐธรรมนูญมุ่งหมายธำรงรักษา
จึงบัญญัติให้เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถยกขึ้นใช้เป็นเหตุผลในการออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้
ทั้งนี้ เพื่อปกป้องความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ซึ่งเป็นบรรทัดฐานในสังคมมาอย่างยาวนานไม่ให้ต้องเสื่อมทรามลง
และเพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคมไทย”
(หน้า ๒๗ - ๒๘)
“แม้ว่าในการผลิตหรือสร้างภาพยนตร์เรื่อง
เชคสเปียร์ต้องตาย ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
จะถือเป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองให้ผู้ประกอบอาชีพมีสิทธิและเสรีภาพในการผลิตหรือสร้างภาพยนตร์ก็ตาม แต่สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวยังต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อจำกัดบางประการตามมาตรา ๒๙
แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑
คือ ภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นมาจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ดังนั้น
กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย ออกฉาย
ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ด้วยเหตุผลว่า
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ซึ่งเป็นกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ด้วยเหตุผลที่ว่า
บางฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย
จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา
๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๕๐
ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสองในประเด็นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้” (หน้า ๒๘)
คำพิพากษา:
“พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า...
เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย ออกฉาย ให้เช่า
แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒
ย่อมไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จึงไม่มีกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓
จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแต่อย่างใด
พิพากษายกฟ้อง
นางสาวฉัตรชนก จินดาวงศ์ ตุลาการเจ้าของสำนวน
ตุลาการศาลปกครองกลาง
นายวชิระ ชอบแต่ง
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง
นายยงยุทธ เชี่ยวชาญกิจ
ตุลาการศาลปกครองกลาง
นายจตุพล ศรีบุรมย์
ตุลาการศาลปกครองกลาง
นายบัณฑิต หวังวโรดม
ตุลาการศาลปกครองกลาง
ตุลาการผู้แถลงคดี
: นายวุฒิวัฒจ์ จรัณยานนท์
ศาลปกครองกลาง 11 ส ค 2560” [หน้า ๓๐, จบ]
**********************************************************