ข้าแต่ศาลที่เคารพ
ข้าพเจ้าเชื่อว่า กฎหมายมีไว้รักษาธรรมในสังคม
นี่คือเหตุผลที่ข้าพเจ้าจำใจต้องต่อสู้เพื่อความถูกต้อง
ทั้งที่ซาบซึ้งดีเป็นอย่างยิ่งว่าการต่อสู้กับผู้มีอำนาจเหนือชะตากรรมของภาพยนตร์ไทยนั้น
ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับภาพยนตร์คนไหนพร้อมจะทำ
ในอุตสาหกรรมที่ผู้เปี่ยมอิทธิพลที่มีอยู่ไม่กี่คนนั้นมีอำนาจล้นฟ้า
และคนอื่นๆที่เหลือล้วนไร้อำนาจในการต่อรองโดยสิ้นเชิง
เมื่อภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งถูกสั่งห้ามฉาย นั่นคือการประหารชีวิตภาพยนตร์เรื่องนั้น ซึ่งหนักหนาและรุนแรงกว่าโทษเมาแล้วขับ
หรือแม้กระทั่งนักการเมืองที่โกงเลือกตั้งเสียอีก
ที่แบนเพียงชั่วคราวทั้งที่สร้างหายนะมหาศาลต่อประเทศชาติ
ยิ่งกว่านั้น การใช้กฎหมายแบนภาพยนตร์ ซึ่งใช้อำนาจตามดุลยพินิจของคณะกรรมการ เปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่ชอบธรรม
โดยการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐานตามอำเภอใจของผู้ใช้อำนาจ ดังนี้ :
กรณีภาพยนตร์เรื่อง
‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’
ปรากฏขึ้นเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา ว่าข้าพเจ้าถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยเจตนา เมื่อมีกรณีการกลับมติคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์สารคดี
“ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” จากห้ามฉาย
เป็นอนุญาตให้ฉายได้
โดยมีเงื่อนไขเพียงดูดเสียงบางช่วงตอนของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกเท่านั้น
ทั้งนี้โดยมิต้องผ่านขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งห้ามฉายแต่อย่างใด
กรณีฟ้าต่ำแผ่นดินสูงนั้น แสดงให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนเห็นชัดว่า
กระบวนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ไม่มีความเที่ยงธรรมและเสมอภาคในทางปฏิบัติ สามารถรวบรัดตัดตอนได้ตามอำเภอใจ
การรวบรัดตัดขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งห้ามฉายโดยที่เจ้าของภาพยนตร์ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง มิได้เป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง แต่กระทำโดยคณะกรรมการฯเอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังมีคำสั่งห้ามฉายในวันที่ ๒๔
เมษายน ๒๕๕๖ เป็นอนุญาตให้ฉายได้ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖ หรือเพียง ๒
วันให้หลัง
นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์
ทั้งนี้ผู้แทนคณะกรรมการฯได้ออกมาแถลงกับสื่อมวลชนว่า เป็นความเข้าใจผิดของทางอนุกรรมการฯ และยังอ้างอีกว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนี้
ยื่นพิจารณาในประเภทหนังแผ่น (หนังเพื่อจำหน่ายและเช่ายืม) มิได้ฉายในโรงภาพยนตร์ (ดูเอกสารข่าวแนบ ๒) ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะหลังจากผ่านการตรวจพิจารณาได้รับ เรทติ้ง
(ประเภท) ๑๘+
ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ปกติทันที
๑.๒/
กระบวนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ถูกแทรกแซงทางการเมือง ในกรณีฟ้าต่ำแผ่นดินสูงเห็นได้ชัด เพราะในขั้นตอนการแถลงข่าวห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ๒๔ เมษายน ๒๕๕๖ นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นทั้งประธานอนุกรรมการตรวจพิจารณา
และยังเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ได้ดำเนินการแถลงข่าวด้วยตนเอง (ดูเอกสารข่าวแนบ
๓) เป็นไปไม่ได้ว่าข้าราชการระดับปลัดกระทรวงจะไม่ทราบกฎระเบียบขั้นตอนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์
การกลับมติคำสั่งห้ามฉายดังกล่าวจะกระทำมิได้
หากมิใช่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าปลัดกระทรวงวัฒนธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย
และเมื่อพิจารณาตัวเนื้อหาของสารคดีฟ้าต่ำแผ่นดินสูง จะพบว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้สร้างภาพลักษณ์ด้านลบให้แก่รัฐบาลของ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ต่อการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาล
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้บริหารประเทศ ณ ขณะนั้น การอนุญาตให้ฉายจึงยังประโยชน์โดยตรงต่อรัฐบาล
ในทางกลับกัน การอนุญาตให้ภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย
ออกฉาย
อาจกระทบต่อความรู้สึกของนักการเมือง ณ เวลานั้น เนื่องด้วยเนื้อหาภาพยนตร์ได้สะท้อนชะตากรรมความโลภของผู้นำประเทศ
ซึ่งเป็นบทประพันธ์อมตะของกวีของโลกชาวอังกฤษที่เขียนไว้เมื่อกว่าสี่ร้อยปีมาแล้ว
นี่จึงเป็นเหตุผลให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า
การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองผู้มีอำนาจ ณ เวลานั้น
อย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากหลักฐานทางกฎหมายโดยตรง ซึ่งพิสูจน์ว่าการสั่งห้ามฉาย
เชคสเปียร์ต้องตาย
เป็นการใช้อำนาจกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไร้มาตรฐานและไม่เที่ยงธรรม เนื่องด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ
ภาพยนตร์
ซึ่งเป็นสื่อและศิลปะแขนงหนึ่ง
จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
ซับซ้อน มีผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง
ข้าพเจ้าใคร่ขออนุญาตใช้เวลาอธิบายผลกระทบ
ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวข้าพเจ้าเอง และต่อสังคมโดยรวม จากการใช้กฎหมายนี้โดยละเมิดอำนาจ ขาดความรับผิดชอบและขัดต่อหลักธรรมในสังคม
ขออนุญาตศาลนำข้อสรุปที่ข้าพเจ้าค้นพบ จากประสบการณ์ต้องคำสั่งห้ามฉายผลงาน ซึ่งพวกเราหลายชีวิตได้ช่วยกันสานฝัน
ฟันฝ่าทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังใจ
และเวลาหลายปี สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างสุดฝีมือ เนื่องด้วยข้าพเจ้าเชื่อว่ากรณี ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’
หาใช่เพียงเรื่อง “หนังผีเรื่องหนึ่ง” และความเจ็บปวดเสียหายส่วนตัวของข้าพเจ้าและหมู่คณะเท่านั้น
แต่เป็นคดีตัวอย่างที่เกี่ยวโยงต่อประเด็นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ จึงอยู่ในความสนใจของประชาชน
และสามารถจุดประกายหรือดับความหวังให้แก่ผู้คนจำนวนมาก
ทั้งผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ชมภาพยนตร์หรือสาธารณะชนทั่วไป
ผลกระทบทางวิชาชีพจากการใช้มาตรา
26(7) แห่ง พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ 2551 นั้น นอกจากจะเป็นการข่มขู่ทำลายจิตใจและชีวิตการทำงานของผู้ผลิตภาพยนตร์รายที่ถูกแบน
ยังเป็นการทำลายขวัญของผู้สร้างภาพยนตร์ไทยทุกคนอีกด้วย
ภาพยนตร์ในมิติของ
‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’
นอกเหนือจากประเด็นพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน
– สิทธิในการประกอบวิชาชีพและสิทธิในการแสดงออกทางความคิด ซึ่งคุ้มครองสื่ออื่นๆ
ในประเทศไทย ยกเว้นภาพยนตร์ ซึ่งทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยไร้สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีแล้วนั้น
ยังมีผลกระทบเชิงลบด้านการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในฐานะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อีกด้วย เนื่องด้วยข้อ(7) ในมาตรา 26
เปิดช่องทางอำนวยให้เกิดการลุต่ออำนาจ การเลือกปฏิบัติ
และการทำลายบุคคลที่รัฐในขณะนั้นๆเห็นว่าเป็นศัตรูทางการเมือง
ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยขาดความมั่นคงในวิชาชีพและการลงทุน
ตราบใดที่คนนิรนาม
7 คน ในห้องมืด ยังมีสิทธิตัดสินชะตากรรมของภาพยนตร์
ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ได้ทุ่มเทเวลา ทรัพย์สินและกำลังใจ มาเป็นเวลาหลายปี ตราบนั้น
ความคล่องตัวทางความคิดและความมั่นใจในการลงทุน ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน
ย่อมจะเกิดมิได้ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคน 7 คนนี้
ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ขาดหลักประกันและการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เฉกเช่นที่อาชีพอื่นได้รับ
เมื่อเป็นเช่นนี้
นายทุนจึงไม่กล้าเสี่ยงลงทุนกับบทภาพยนตร์ที่ “แตกต่าง” จากที่เคยเห็นมา
หรือที่มีความคิดแปลกใหม่ สิ่งนี้ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไม่กล้าคิด
ไม่กล้าสร้างสรรค์ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์ไทย “ไม่ไปไหนเสียที”
เพราะต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องไร้สาระ ไม่สามารถสำรวจปัญหาหรือด้านมืดของสังคมไทย
ไม่สามารถแตะต้องเนื้อเรื่องและแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของตนเอง
ขณะเดียวกัน
ภาพยนตร์ของชาติอื่นโดยมากในโลก
มีสิทธิหยิบยืมแรงบันดาลใจจากทุกแง่มุมของชีวิต ของโลก
และประวัติศาสตร์ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ชาติใดที่มีเสรีภาพในการแสดงออกมากที่สุด
วัฒนธรรมและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของชาตินั้นจะแข็งแกร่งเข้มข้น และดึงดูดผู้ชมจากทั่วโลก มีผลผลิตที่ข้ามภาษา ข้ามวัฒนธรรมได้
เพราะสร้างขึ้นจากบทภาพยนตร์ที่มีรากฐานอยู่บนเสรีภาพทางจินตนาการ
การที่ภาพยนตร์ไทยจะไปแข่งขันในตลาดกับเขาเหล่านี้นั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะรัฐบาลไทย และกฎหมายไทย
ส่งผู้สร้างภาพยนตร์ไทยขึ้นเวทีชกโดยที่มัดแขนมัดขาล่ามโซ่เอาไว้
เป็นมิตรกับศิลปิน
หากว่าประเทศไทยต้องการรายได้จากศิลปะ
ประเทศไทยต้องไว้ใจศิลปิน รวมทั้งภาพยนตร์ เช่นเดียวกับที่เราไว้ใจแพทย์ในการแพทย์
ไว้ใจแม่ครัวในครัว ไว้ใจครูอาจารย์ ตำรวจ ทหาร ในการปฏิบัติวิชาชีพของตน
ในการทำงานที่คนทั่วไปทำไม่ได้ และต้องไว้ใจผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้นๆ
ประเทศไทยต้องไว้ใจศิลปิน
เลิกมองศิลปินเป็นศัตรูที่มีพิษภัย ซึ่งเป็นการมองที่ไม่เป็นมิตร
ไม่ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่สร้างสรรค์
ตามครรลองคลองธรรม
ประเทศไทยต้องกล้าที่จะปล่อยให้ศิลปะไทยเป็นไป
และเดินหน้าไปตามครรลองของมันอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะศิลปะเป็นผลจากแรงบันดาลใจ
และปฏิกิริยาที่ศิลปินมีต่อสิ่งต่างๆ ในสังคมรอบตัวเขา ซึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองโดยประสบการณ์
การตกผลึกของปัญญาและความรู้สึก และแสดงออกมาโดยความจริงใจ
ศิลปะที่เกิดจากขบวนการตามครรลองคลองธรรมอย่างแท้จริงในลักษณะนี้
ที่สามารถงอกงามโดยไม่ถูกกดดันจำกัดขอบเขตและรบกวนสมาธิในการทำงานโดยคนภายนอกที่ไม่รู้จริง
นี่คือศิลปะที่มีชีวิต มีพลัง
ศิลปะ
รวมทั้งภาพยนตร์
ที่มีต้นกำเนิดจากโจทย์และขอบเขตข้อจำกัดที่รัฐตั้งธงไว้ให้ล่วงหน้า –
คือศิลปะที่ถูกควบคุมนั้น – เป็นศิลปะที่ไร้ชีวิต
สัจธรรมนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้
ศิลปะที่ไร้ชีวิตนั้นขายไม่ออก
เนื่องจากว่ามันไม่สามารถสัมผัสชีวิตจิตใจของผู้ชม ไม่จุดประกายให้เกิดการสนทนาถกความที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์
และการคิดเป็น การรู้จักวิเคราะห์ปัญหา เพราะศิลปะที่ตาย
ไม่สามารถให้แรงบันดาลใจและกำลังใจต่อผู้ชม นี่คือเหตุผลที่ภาพยนตร์ไทยไม่สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยในระดับที่ควรจะทำได้
ศิลปะแท้นั้นอยู่ไม่ได้
และเกิดไม่ได้ หากไม่มีเสรีภาพ และศิลปะที่ถูกควบคุมนั้น เป็นศิลปะที่ไร้ชีวิตและขายไม่ออก
เหตุผลทางธรรมาภิบาล
– ป้องกันการทุจริตและการใช้อำนาจโดยละเมิด
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เห็นชัดว่าการแบนภาพยนตร์นั้น
ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางบรรยากาศการเมืองและค่านิยม
ที่มักเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของผู้ที่เข้ามามีอำนาจในรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น
ในเมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองสามารถสั่งแบนภาพยนตร์ได้ทุกเมื่อ
โดยข้ามหัวกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ตราบใดที่ยังมีมาตรา 26(7) ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
นี่จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำลายความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของผู้สร้างภาพยนตร์
และส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการทุจริตติดสินบน หรือการใช้อำนาจเหนือกฎหมาย
โดยอาศัยอำนาจกฎหมายที่ขัดต่อความเป็นจริงในปัจจุบัน
2. ผลกระทบต่อผู้ชมภาพยนตร์
นอกจากการเสียโอกาสของประชาชน
ที่จะได้ชมภาพยนตร์เชคสเปียร์ที่ได้ทุนสร้างจากภาษีของประชาชนแล้ว ยังมีผลกระทบเชิงลึกที่สำคัญอีกหลายประการ
เหตุผลและผลกระทบทางประชาธิปไตยเชิงลึก
แทนที่จะห้ามฉายภาพยนตร์ที่กรรมการเซ็นเซอร์เห็นว่าเป็นพิษภัยต่อสังคมหรือสร้างความแตกแยก
ประเทศไทยควรให้โอกาสทุกฝ่ายสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนและมุมมองของตน
หากว่าประเทศไทยมีศรัทธาในประชาชนและมีความกล้าหาญเช่นนี้
ผู้ชมในประเทศไทยก็จะได้รับชมทุกมุมมองและรสนิยม ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทย หากว่าเรามัวแต่แบนความคิดของกันและกัน เราก็ไม่มีวันเข้าอกเข้าใจกันและกัน
สร้างภูมิต้านทานและความอดทนทางวัฒนธรรม
การที่ภาพยนตร์ไทยขาดเสรีภาพทางความคิด
ทำให้ภาพยนตร์ไทยอ่อนแอ
ไม่สามารถแข่งขันหรือต่อสู้กับอิทธิพลของอุตสาหกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์
ซึ่งโดยธรรมชาติของมัน ย่อมมีแต่นำพาให้จิตใจหยาบกร้านหมกมุ่นในวัตถุนิยม นำพาไปสู่ปัญหาสังคมมากมายอย่างที่เห็นกัน
ภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพและเสรีภาพ จะสามารถสร้างภูมิต้านทานทางความคิด ที่จะนำไปสู่
ความสมดุลระหว่างวัตถุและจิตวิญญาณในสังคมไทย
ขณะเดียวกัน
เสรีภาพทางความคิดจะทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภาพยนตร์ไทย
ซึ่งย่อมเป็นสิ่งที่ดีทั้งในการค้าและในการสร้างความอดทนทางวัฒนธรรม
ในความพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นและรสนิยมที่แตกต่างจากความเคยชินของแต่ละคน
อันเป็นรากฐานของประชาธิปไตย
การเผชิญหน้ากับความเป็นจริง
ความเป็นจริงในปัจจุบัน
รวมทั้งโลกออนไลน์ หมายความว่า
ไม่มีใครสามารถปิดกั้นการสื่อสารใดๆได้อีกในโลกนี้
ทำให้มาตรการแบนภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ไร้สาระโดยสิ้นเชิง นอกจากจะไม่ได้ผลในการปิดกั้นข่าวสารข้อมูล มันยังทำให้ประเทศและวัฒนธรรมอ่อนแออีกด้วย
ทั้งเป็นการกีดกันปัญญาชนของประเทศออกไปจากบทสนทนาของชาติ ซึ่งเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงของสังคมไทย
3. ผลกระทบทางสังคม
เราพูดกันตลอดเวลา ว่าเราเป็นห่วงคุณภาพของคนไทยที่นับวันยิ่งโง่ ไอคิวเด็กไทยต่ำลงทุกครั้งที่สำรวจ จนต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของโลกไปแล้ว
ข้าพเจ้าไม่ได้ทำหนังเชคสเปียร์เพื่อความโก้เก๋ เพราะเห่อฝรั่ง การแปลเชคสเปียร์เป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายความสามารถถึงที่สุด และต้องทุ่มเทตัวตนทำด้วยใจรัก หาใช่สิ่งที่ใครจะลุกขึ้นมาทำกันง่ายๆ
ด้วยคึกคะนอง
เพียงเพื่อจะด่านักการเมือง
เชคสเปียร์มิได้เป็นเพียงกวีเอกของอังกฤษเท่านั้น แต่เป็นกวีเอกของโลกคนหนึ่ง
ผลงานของเชคสเปียร์คือมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ซึ่งสอนให้คนรู้จักที่จะวิเคราะห์ตนเองและผู้อื่น ข้าพเจ้าใคร่ตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด
คนไทยจึงไม่มีสิทธิรับมรดกอันล้ำค่านี้?
มรดกที่คนชาติอื่นๆ ทั่วโลกเขาได้รับคุณประโยชน์กันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว
จะมีอีกกี่ครั้งที่จะมีคนไทยลุกขึ้นมาสร้างหนังจากละครเชคสเปียร์? เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก และอาจเป็นเรื่องสุดท้าย
คนไทยเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกส่วนที่ไร้คุณประโยชน์ก็มากมาย ส่วนที่เป็นพิษภัยก็มากมาย
ทั้งส่วนที่เป็นเพียงขนมขบเคี้ยวและที่เป็นยาพิษก็มากมาย
แล้วทำไมเราจึงเปิดรับวัฒนธรรมส่วนที่เป็นกะทิของเขาไม่ได้ – ส่วนที่เป็นยาวิเศษ เป็นวิตามิน
ที่สร้างภูมิต้านทานทางวัฒนธรรมให้สาธารณชน
ส่วนที่ทำให้เขากลายเป็นประเทศมหาอำนาจ
ในขณะที่เรายังล้มลุกคลุกคลาน?
ท่านนึกภาพอังกฤษที่ไม่เคยมีเชคสเปียร์ได้หรือไม่? ทำไมเราจึงต้อนรับเฉพาะวัฒนธรรมขยะของเขา และกีดกันสิ่งที่ดีที่สุดของเขา?
4.
ผลกระทบทางคุณธรรมและจิตวิญญาณ
ในยุคสมัยใหม่
ภาพยนตร์ของแต่ละชาติคือทารกแห่งจินตนาการของวัฒนธรรมนั้นๆ
สื่ออื่นทุกสื่อนั้นมีกฎหมายคุ้มครอง
โดยทฤษฎี โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ล้วนเป็นเสรี แต่ภาพยนตร์นั้นต้องผ่านการพิจารณาก่อนฉาย และถูกสั่งห้ามฉายได้ตามกฎหมาย ทารกแห่งจินตนาการของนักทำหนัง อาจถูกคนนิรนามเจ็ดคนตัดสินล่วงหน้าแทนคนทั้งชาติว่าเป็นพิษต่อสังคม
และสั่งประหารชีวิตได้ในที่นั้นทันที
เพราะอะไร
ภาพยนตร์จึงเป็นที่หวั่นคร้ามเกรงกลัวมากถึงเพียงนี้? พรบ.ภาพยนตร์ของเรานั้น
เชื่อกันว่าเขียนขึ้นมาคุ้มครองสาธารณชนจากวัฒนธรรมที่มีพิษ แต่ผลลัพธ์ของมันกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม กฎหมายนี้ไม่ได้ทำร้ายเฉพาะนักทำหนังอย่างเรา แต่ทำร้ายสาธารณชนเช่นกัน
เรามีขุมทรัพย์แห่งเรื่องราวมากมายมหาศาลที่ยังไม่ได้ตักตวง
แต่กฎหมายและความหวั่นกลัวบีบบังคับให้เราต้องจำกัดความคิดตนเองอยู่ในกรอบแห่งความตื้นเขินและผิวเผิน เราไม่ได้รับอนุญาตให้สำรวจตนเอง: หลากวัฒนธรรมของเรา, บาดแผลทางประวัติศาสตร์ของเรา, จิตวิญญาณของเรา
สาธารณชนถูกป้อนปรนเปรอด้วยละครน้ำเน่า หนังสยองขวัญ-หนังบู๊ที่ผิวเผิน
ลองนึกดูว่าหากมีการห้ามใช้พริกในการปรุงอาหารไทย
เพราะเขาเห็นว่ามันแรงเกินไปสำหรับกระเพาะของเรา
แล้วคนไทยถูกบังคับให้กินเฉพาะอาหารฟาสต์ฟู้ดชุดเด็กตลอดชีวิต;
นี่คือสภาวการณ์ของภาพยนตร์ไทย
ซึ่งย่อมเป็นสภาวการณ์ของจินตนาการแห่งสาธารณชนชาวไทย การเซ็นเซอร์ทำให้เราจืดจางและอ่อนแอ โง่
ไหวพริบล่าช้า ดัดจริตในศีลธรรม--ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่น่าใช่นิสัยดั้งเดิมอันแท้จริงของคนไทย
ในความเพียรพยายามที่จะควบคุมจินตนาการของเรา
รัฐไทยมองสื่อและศิลปะทุกแขนงผ่านแก้วผลึกแห่งโฆษณาชวนเชื่อและการจัดระเบียบสังคม
เพราะรัฐเชื่อว่าคนเราสามารถจัดระเบียบสังคมให้ประชาชนเป็นคนดี โดยการให้เลียนแบบตัวอย่างที่ดีงาม และเก็บกดทุกแบบอย่างที่ดูชั่วร้ายอุจาดบาดตา
นี่คือเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการภาพยนตร์เห็นว่า
‘แม็คเบ็ธ’ ฉบับของข้าพเจ้า
“มีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ” และ
“ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ”
คนเหล่านี้ไม่เข้าใจจริงๆ
ว่าเราสามารถเรียนรู้จากแบบอย่างที่ไม่ดี:
ชายที่น่าจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง
แต่สูญเสียทุกสิ่งเป็นเครื่องสังเวยความโลภ ความมักใหญ่ใฝ่สูงอันไร้ขอบเขตของตน ในแก่นสารของทั้ง‘แม็คเบ็ธ’ดั้งเดิมและใน ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ เรานั่งดูชายคนหนึ่งสำรวจความรู้สึกนึกคิดผิดชอบชั่วดี แล้วยังตัดสินใจที่จะทำลายตนเอง นี่คือเหตุผลที่จูงใจให้ข้าพเจ้าเลือกเอา‘แม็คเบ็ธ’มาสร้างเป็นภาพยนตร์ไทย
เชคสเปียร์มีสมรรถภาพจำเพาะที่จะสั่นคลอนความคิดตื้นของคนไทย
เพราะว่าเขาคือยาถอนพิษชั้นเลิศในการต้านทานโฆษณาชวนเชื่อและกรอบความคิดคับแคบที่มองโลกเป็นขาว-ดำ
เชคสเปียร์มีความลึกล้ำทางจิตวิญญาณและศีลธรรม แต่ในขณะเดียวกัน เชคสเปียร์ก็ปลอดจากสารพิษแห่งการตัดสินพิพากษา ชี้นิ้วยกตนข่มท่าน และความบ้าศีลธรรม
เพราะจุดยืนของเชคสเปียร์คือปัญญาและเมตตาธรรม
ประเทศชาติที่มีสุขในเสรีภาพทางการแสดงออกทางศิลปะทุกแขนง รวมทั้งภาพยนตร์ สามารถถ่วงดุลย์ และสร้างภูมิต้านทานทางสังคม ต่อคลื่นอันท่วมท้นแห่งการตลาดที่คอยสร้างความไร้สติ
และการชักใยทางการเมือง
ในขณะที่ประเทศไทยนั้น
แทบไม่มีอะไรมาถ่วงดุลย์อำนาจแห่งความเย้ายวนของอุตสาหกรรมโฆษณา และการบิดเบือนข่าวสารโดยเครื่องจักรประชาสัมพันธ์อื่นๆ
ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการค้าและการเมือง
ดังนั้น
คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่เข้าใจภาษาสื่อมวลชน
อาหารสมองหลักของเราคือละครน้ำเน่า
เกมโชว์และโฆษณา
เราคือกลุ่มเป้าหมายแน่นิ่ง
คือเหยื่อการตลาดอันโอชะ
เราไม่มีทางรอดเลย
สำหรับข้าพเจ้า นี่คือรากเหง้าของปัญหาของเราในปัจจุบัน เราจะมีสังคมที่สงบร่มเย็น ภายใต้ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร
โดยปราศจากความรู้ภาษาสื่อมวลชน? นี่คือเหตุผลที่ข้าพเจ้าเห็นว่าภาพยนตร์เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
ภาพยนตร์ถูกมองเป็นสิ่งที่มีพิษภัย แล้วความบ้าอำนาจ ความอยุติธรรม การเลือกปฏิบัติทางกฏหมาย การกดขี่ข่มเหง
สิ่งเหล่านี้มิใช่ภัยสังคมยิ่งไปกว่าหรือ? การปฏิเสธความจริง การปฏิเสธความรู้จักตนเอง
น่าจะเป็นสิ่งที่อันตรายกว่าภาพยนตร์ใดใดทั้งสิ้น
โดยเฉพาะภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่สร้างจากบทละครเชคสเปียร์ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ให้ทุนสร้างขึ้นมาเอง
เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสผลงานของ’กวีเอกของโลก’
ศิลปะมีอยู่เพื่อสิ่งนี้: เพื่อให้เราได้รู้จักตัวเอง นั่นคือธรรมะของศิลปินแท้ เขามีหน้าที่ช่วยให้เราสำรวจตัวเอง โดยเฉพาะความคิดฝันที่มืดมนที่สุดของเรา
เพื่อที่เราจะได้เกิดความสะพรึงกลัวในสิ่งนั้น
และรู้จักตัวเอง
เมืองไทยหลงทางเพราะเรากักขังจินตนาการของเราไว้ในคุกใต้ดิน มัดตรึงด้วยโซ่ตรวน
แผ่นดินใดที่ไร้ภาพยนตร์แห่งชาติที่เป็นเสรี แผ่นดินนั้นย่อมไม่มีทางและไม่มีวันที่จะเป็นไท
[บทแปลสรุปคำอภิปรายของ
สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’
ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย, วันที่ 5 กรกฎาคม
2555]
5. ประโยชน์ทางภาพพจน์ของชาติ
คำสั่งห้ามฉายและคำยืนยันคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นจากบทละครอมตะ
ซึ่งบรรจุอยู่ในหลักสูตรมัธยมต้นทั่วโลกมาหลายชั่วคน ได้ปรากฏเป็นข่าว
สร้างความพิศวงตกตะลึงและขบขันต่อชาวโลกอย่างกว้างขวาง ดังนั้น
การยกเลิกคำสั่งนี้ย่อมมีผลลัพธ์ที่ดีต่อการยอมรับในความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลไทย
ในระยะยาว
รัฐบาลใดที่กล้าหาญสร้างประวัติศาสตร์ โดยการยกเลิกการแบนภาพยนตร์ในประเทศไทย จะได้รับคำแซ่ซ้องสรรเสริญจากทุกมุมโลกและทั่วทั้งสังคมไทย
ประเทศไทยจะมีภาพเป็นประชาธิปไตยและเป็นมิตรต่อการลงทุนและการท่องเที่ยว ประโยชน์ทางภาพพจน์และความเป็นมิตรที่รัฐบาลจะได้รับจากการเลิกแบนภาพยนตร์นั้นประเมินค่ามิได้
โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเสียอะไรเลย ในเมื่อระบบจัดเรทติ้งนั้นคงอยู่
และหากว่าภาพยนตร์ใดละเมิดกฎหมาย
เช่น มาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และหมิ่นประมาทผู้ใด
ก็มีกฎหมายเฉพาะเรื่องนั้นๆ ทั้งแพ่งและอาญาที่ครอบคลุมการละเมิดนั้นๆ อยู่แล้ว
ด้วยความเคารพอย่างสูง
และสัจจธรรม
น.ส. สมานรัชฎ์
กาญจนะวณิชย์
ผู้กำกับ-ตัดต่อและผู้แปลบทละคร
‘เชคสเปียร์ต้องตาย’
♦v♦