(เรื่อง: ขบวนการสังหารทารกแห่งจินตนาการ)
ขอเริ่มด้วยคลิพจากหนังมหากาพย์ของจอร์จ สตีเวนส์ ‘ตำนานเล่าขานอันยิ่งใหญ่’ (The Greatest Story Ever Told) : “สิ่งที่พ่อกลัวคือทารกแห่งจินตนาการ เมื่อเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์หลังจากพ่อ, ลูกเอ๋ย, หากว่าเจ้าได้ครองราชย์, จงจดจำคำพูดนี้ไว้ให้ดี”
นั่นคือคำสั่งสอนลูกของราชาเฮรอด ในการอธิบายเหตุผลหลังนโยบายล้างบางสังหารหมู่เด็กแรกเกิด โดยที่ทารกแห่งจินตนาการในที่นี้หมายถึงความคิด--ความคิด ความเชื่อมั่นว่าพระเจ้าได้ส่งลูกชายลงมาจุติเป็นมนุษย์เพื่อกำจัดทรราชจากโลกภพ ตามคำทำนายจากดวงดาว ตามศรัทธาเดิมของชาวบ้าน ดังนั้น เขาจึงต้องฆ่าเด็กแรกเกิดทุกคน--อันเป็นทารกแห่งจินตนาการของประชาชน
คืนวันศุกร์ที่แล้ว ‘ข่าวข้นคนข่าว’ รายการสรุปข่าวประจำวันทางช่อง9 ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโทรทัศน์ไทย กล่าวอำลาผู้ชมเป็นครั้งสุดท้าย และเริ่มจากอาทิตย์นี้ ถูกแทนที่โดยรายการข่าวของจอม เพชรประดับ ดาวเด่นแห่งวอยซ์ทีวีของตระกูลชินวัตร
การเซ็นเซอร์ ทั้งแบบที่เป็นทางการ และแบบที่ผู้ปฏิบัติบั่นทอนตนเอง คือใบสั่งของทุกวันนี้ในบรรยากาศแห่งความกลัว ท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้และเหยื่อที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘ข่าวข้นคนข่าว’ เหตุใดเราจะต้องใส่ใจการแบนภาพยนตร์อย่าง ‘Insects in the Backyard’ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังโป๊อินดี้ และหนังผีทุนต่ำ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’
ไม่ว่าชะตากรรมของ ‘ข่าวข้นคนข่าว’ จะโหดร้ายเหลือเชื่อเพียงใด อย่างน้อย สื่ออื่นๆ ทุกสื่อนั้นมีกฎหมายคุ้มครอง โดยทฤษฎี โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ล้วนเป็นเสรี แต่ภาพยนตร์นั้นไม่เลย หนังถูกแบนได้ตามกฎหมาย ทารกแห่งจินตนาการของนักทำหนัง อาจถูกคนนิรนามเจ็ดคนตัดสินล่วงหน้าว่าเป็นพิษต่อสังคม และสั่งประหารชีวิตได้ในที่นั้นทันที
เพราะอะไร ภาพยนตร์จึงเป็นที่หวั่นคร้ามเกรงกลัวมากถึงเพียงนี้? ในยุคสมัยใหม่ ภาพยนตร์ของแต่ละชาติคือทารกแห่งจินตนาการของวัฒนธรรมนั้น เช่นเดียวกับราชาเฮรอด ผู้ปกครองแผ่นดินนี้รู้ดีว่าเขาควบคุมเราได้ หากว่าเขาสามารถควบคุมจินตนาการของเรา
พรบ.ภาพยนตร์ของเรานั้น เชื่อกันว่าเขียนขึ้นมาคุ้มครองสาธารณชนจากวัฒนธรรมที่มีพิษ แต่ผลลัพธ์ของมันกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม กฎหมายนี้ไม่ได้ทำร้ายเฉพาะนักทำหนังอย่างเรา แต่ทำร้ายสาธารณชนเช่นกัน เรามีขุมทรัพย์แห่งเรื่องราวมากมายมหาศาลที่ยังไม่ได้ตักตวง แต่กฎหมายและความหวั่นกลัวบีบบังคับให้เราต้องจำกัดความคิดตนเองอยู่ในกรอบแห่งความตื้นเขินและผิวเผิน เราไม่ได้รับอนุญาตให้สำรวจตนเอง: หลากวัฒนธรรมของเรา, บาดแผลทางประวัติศาสตร์ของเรา, จิตวิญญาณของเรา
สาธารณชนถูกป้อนปรนเปรอด้วยละครน้ำเน่า หนังสยองขวัญ-หนังบู๊ที่ผิวเผิน ลองนึกดูว่าหากมีการห้ามใช้พริกในการปรุงอาหารไทย เพราะเขาเห็นว่ามันแรงเกินไปสำหรับกระเพาะของเรา แล้วคนไทยถูกบังคับให้กินเฉพาะอาหารฟาสต์ฟู้ดชุดเด็กตลอดชีวิต; นี่คือสภาวการณ์ของภาพยนตร์ไทย ซึ่งย่อมเป็นสภาวการณ์ของจินตนาการแห่งสาธารณชนชาวไทย การเซ็นเซอร์ทำให้เราจืดจางและอ่อนแอ โง่ ไหวพริบล่าช้า ดัดจริตในศีลธรรม--ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่น่าใช่นิสัยดั้งเดิมอันแท้จริงของคนไทย
ในความเพียรพยายามที่จะควบคุมจินตนาการของเรา รัฐไทยมองสื่อและศิลปะทุกแขนงผ่านแก้วผลึกแห่งโฆษณาชวนเชื่อและการจัดระเบียบสังคม ไม่มากเกินไปเลยที่จะสรุปว่า ทางวัฒนธรรม เรายังคงถูกปกครองโดยโยเซฟ เกอเบิลส์แห่งไทยแลนด์--หลวงวิจิตรวาทการ พ่อมดโฆษณาชวนเชื่อของจอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐเชื่อว่าคนเราสามารถจัดระเบียบสังคมให้ประชาชนเป็นคนดี โดยการให้เลียนแบบตัวอย่างที่ดีงาม และเก็บกดทุกแบบอย่างที่ดูชั่วร้ายอุจาดบาดตา
นี่คือเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการภาพยนตร์เห็นว่า ‘แม็คเบ็ธ’ ฉบับของดิฉัน “มีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ” และ “ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ”
คนเหล่านี้ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าเราสามารถเรียนรู้จากแบบอย่างที่ไม่ดี: ชายที่น่าจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง แต่สูญเสียทุกสิ่งเป็นเครื่องสังเวยความโลภ ความมักใหญ่ใฝ่สูงอันไร้ขอบเขตของตน ในแก่นสารของทั้ง‘แม็คเบ็ธ’ดั้งเดิมและใน ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ เรานั่งดูชายคนหนึ่งสำรวจความรู้สึกนึกคิดผิดชอบชั่วดี แล้วยังตัดสินใจที่จะทำลายตนเอง นี่คือเหตุผลที่จูงใจให้ดิฉันเลือกเอา‘แม็คเบ็ธ’มาสร้างเป็นภาพยนตร์ไทย เชคสเปียร์มีสมรรถภาพจำเพาะที่จะสั่นคลอนความคิดของคนไทย เพราะว่าเขาคือยาถอนพิษชั้นเลิศในการต้านทานโฆษณาชวนเชื่อและกรอบความคิดคับแคบที่มองโลกเป็นขาว-ดำ เชคสเปียร์มีความลึกล้ำทางจิตวิญญาณและศีลธรรม แต่ในขณะเดียวกัน เชคสเปียร์ก็ปลอดจากสารพิษแห่งการตัดสินพิพากษา ชี้นิ้วยกตนข่มท่าน และความบ้าศีลธรรม
ครั้งหนึ่ง คนไทยเราก็เคยเป็นอย่างเชคสเปียร์ แต่แปดสิบปีที่เราถูกดองอยู่ในขบวนการโฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการ ที่ครอบงำและถาโถมเข้ามาล้างสมองคนไทยอย่างไม่หยุดยั้งที่‘ชาตินิยม’แต่ขายชาติและแอบอ้างศีลธรรม ทำให้กรอบความคิดอันเป็นพิษร้ายนี้ถูกปลูกฝังถักทอลงในผืนผ้าแห่งจริยธรรมของเรา ทั้งที่มันแสลงต่อธรรมชาติและธาตุแท้ของคนไทยอย่างสิ้นเชิง
ประเทศชาติที่มีสุขในเสรีภาพทางการแสดงออกทางศิลปะทุกแขนง รวมทั้งภาพยนตร์ สามารถถ่วงดุลย์ และสร้างภูมิต้านทานทางสังคม ต่อคลื่นอันท่วมท้นแห่งการตลาดที่คอยสร้างความไร้สติ และการชักใยทางการเมือง ในขณะที่ประเทศไทยนั้น แทบไม่มีอะไรมาถ่วงดุลย์อำนาจแห่งความเย้ายวนของอุตสาหกรรมโฆษณา และการบิดเบือนข่าวสารโดยเครื่องจักรประชาสัมพันธ์อื่นๆ ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการค้าและการเมือง ดังนั้น คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่เข้าใจภาษาสื่อมวลชน อาหารสมองหลักของเราคือละครน้ำเน่า เกมโชว์และโฆษณา เราคือกลุ่มเป้าหมายแน่นิ่ง คือเหยื่อการตลาดอันโอชะ เราไม่มีทางรอดเลย
สำหรับดิฉัน นี่คือรากเหง้าของปัญหาของเราในปัจจุบัน เราจะมีสังคมที่สงบร่มเย็น ภายใต้ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร โดยปราศจากความรู้ภาษาสื่อมวลชน? นี่คือเหตุผลที่ดิฉันเห็นว่าภาพยนตร์เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
ขอทิ้งภาพอันน่าคลื่นเหียนเอาไว้ให้ท่านชื่นชม: ในจอทีวี คุณนายระเบียบรัตน์ อดีต สว.และผู้แต่งตั้งตนเองเป็นนักต่อสู้เพื่อศีลธรรมอันดีงาม กำลังหอมแก้มพระเอกหนัง ‘ฟิล์ม’ ในพิธีกรรมสมานฉันท์ปรองดองหลังการทะเลาะเบาะแว้งที่เนื่องมาจาการปฏิเสธความเป็นพ่อเด็กลูกแอนนี่ บรุ้คส์ (คุณระเบียบรัตน์ชอบแต่งสูทมัดหมี่ ส่วนฟิล์มเหมือนตุ๊กตาเคน แฟนบาร์บี้ ฉบับนักร้องเกาหลี) ความคิดแรกของดิฉันคือ-โอ้เอ็มจี! มันเหมือนนั่งดูสัมพันธภาพระหว่างอิโมติคอน ;)
แล้วไหนยังคุณนายสุกุมล คุณปลื้ม ท่านรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของเรา สะใภ้เจ้าพ่อที่กำลังหลบหนีกฎหมาย ผู้มีอาการอ้ำอึ้งเมื่อถูกซักถามเรื่องการแบนหนังเชคสเปียร์ แต่เกรี้ยวกราดและเก่งกล้านักกับกรณีจัดฉากให้เกิดฮิสทีเรียนมละเลงสีในรายการ‘ไทยแลนด์สก็อทแทเล็นท์’
ในสายตาของคนแบบนี้ คุณกอล์ฟ ธัญญ์วารินเป็นคนอุจาดไร้ศีลธรรม และดิฉันคือผู้ก่อการร้ายทางวัฒนธรรม ที่ไร้ศีลธรรมเช่นเดียวกัน แต่สิ่งใดเล่าคือความอุจาด? ในกรณีนมละเลงสีออกทีวี ทุกสิ่งทุกอย่างอุจาด ทั้งการจัดฉากโป๊เพื่อสร้างกระแสขายรายการ ทั้งปฏิกิริยากรี๊ดกร๊าดเกียร์ออโต้ มีเพียงการเปลือยนมเท่านั้นที่ไม่อุจาด ความดัดจริตทางจริยธรรมปากว่าตาขยิบคือความอุจาด ความบ้าอำนาจคือความอุจาด การกดขี่ข่มเหงคือความอุจาด การแบนหนังไทยเชคสเปียร์เรื่องแรกและเรื่องเดียวที่เขาให้ทุนสร้างขึ้นมาเองนั้นคือความอุจาด การเซ็นเซอร์--นั่นแหละคือความอุจาดของจริง
อะไรก็ตามที่ขับเคลื่อนโดยสิ่งที่หลีกเลี่ยงแสงตะวันแห่งสัจธรรม--นั่นคือความอุจาด การปฏิเสธความจริง การปฏิเสธความรู้จักตนเอง--คือความอุจาด ศิลปะมีอยู่เพื่อสิ่งนี้: เพื่อให้เราได้รู้จักตัวเอง นั่นคือธรรมะของศิลปินแท้ เขามีหน้าที่ช่วยให้เราสำรวจตัวเอง โดยเฉพาะความคิดฝันที่มืดมนที่สุดของเรา เพื่อที่เราจะได้เกิดความสะพรึงกลัวในสิ่งนั้น และรู้จักตัวเอง
เมืองไทยหลงทางเพราะเรากักขังจินตนาการของเราไว้ในคุกใต้ดิน มัดตรึงด้วยโซ่ตรวน แผ่นดินใดที่ไร้ภาพยนตร์แห่งชาติที่เป็นเสรี แผ่นดินนั้นย่อมไม่มีทางและไม่มีวันที่จะเป็นไท
-สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ถูกแบน ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ในการเสวนาเรื่อง ‘ศิลปะและการเซ็นเซอร์’ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย, วันที่ 5 กรกฎาคม 2555
(ขออภัยที่ไม่มีคำบรรยายของผู้ร่วมเสวนา คือ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ถูกแบน ‘Insects in the Backyard’ และคุณก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์)