English Version Click
บทความนี้เขียนขึ้นขณะที่เรากำลังเตรียมใจส่ง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ไปให้กองเซ็นเซอร์พิจารณา ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ที่นับวันยิ่งแตกแยกทวีคูณภายใต้การปกครองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และไม่ถึงสามเดือนหลังจากมหาอุทกภัย ซึ่งพาให้เราใจหายใจคว่ำไปพักหนึ่ง เมื่อหนังของเราต้องพลอยติดเกาะอยู่ที่ห้องแล็บใกล้สนามบินดอนเมือง
ตั้งแต่จำความได้ ฉันไม่เคยเห็นเมืองไทยอารมณ์เลวร้ายเท่ากับยามนี้ ทุกอณูอากาศ ทุกผงธุลี เปี่ยมล้นด้วยความโกรธ เกลียดชัง ความเศร้า ความสิ้นศรัทธา
จึงค่อนข้างแน่นอนว่าทั้งกองเซ็นเซอร์และฝ่ายอื่นๆ ย่อมตั้งคำถามลักษณะนี้กับเรา: พวกคุณไม่เกรงกลัวหรือว่าหนังเรื่องนี้อาจทำให้สังคมแตกแยกยิ่งขึ้น?; คุณมีอคติต่อเสื้อแดงหรือเปล่า?; คุณไม่กลัวเสื้อแดงมาฆ่าหรอกเหรอ?; หนังเรื่องนี้เป็นการโจมตีครอบครัวชิณวัตรใช่ไหม?; หรือว่าเป็นการโจมตีพระราชวงศ์จักรี? (ในเมื่อคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำลังแพร่หลายระบาด ต้องขอยืนยันตรงนี้ว่าทุกพยางค์ของฉากนั้นมาจากต้นฉบับของเชคสเปียร์ มันคือการถกเถียงเรื่องพระราชอำนาจและบารมีของพระมหากษัตริย์ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ฟ้าประทานมา [Divine Right of Kings] ซึ่งสรุปใจความว่ากษัตริย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ตราบใดที่องค์กษัตริย์ทรงมีความประพฤติที่ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม และการถกเถียงนี้ในแก่นสารครอบคลุมถึงผู้นำและนักปกครองทุกประเภท); หนังเรื่องนี้รื้อฟื้นบาดแผลสังคมทั้งเก่าและใหม่โดยไม่จำเป็นหรือไม่?; ทำไมคุณหญิงเมฆเด็ด (เลดี้แม็คเบ็ธ) จึงเรียกปีศาจร้ายให้เข้ามาสิงตัวเธอ ขณะที่กำลังพนมมืออยู่หน้าพระพุทธรูป? ฯลฯ
************************************************************
คติประจำกองถ่ายของเราคือ: “ต่อสู้ความกลัวด้วยศิลปะ – สร้างศิลปะด้วยความรัก” ซึ่งเป็นคติประจำใจที่ไม่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ชีวิต แต่มันสว่างดี ฉันพิมพ์มันลงบนเสื้อยืดประจำกอง ฉันแปะมันไว้ข้างประตูโรงถ่าย (ที่คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพที่รังสิต ซึ่งน่าเศร้ามากที่โดนน้ำท่วมจนเสียหายยับเยิน) เพื่อคอยเติมไฟให้ทุกคนในการทำงาน เคียงข้างวรรคหนึ่งจากอีกบทละครของเชคสเปียร์ ‘A Midsummer Night’s Dream’ ( ‘ฝันอลหม่านกลางเหมันต์’ ) ซึ่งเล่ากันว่ามีอิทธิฤทธิ์เป็นยันตร์กันผีคำสาปแม็คเบ็ธอันน่าเกรงกลัว เพื่อให้นักแสดงที่ถือเรื่องนี้สบายใจ: “แน่ใจหรือว่าเราตื่นกันอยู่? ดูเหมือนกับว่าเรายังคงหลับ และฝัน”
เราต้องต่อสู้กับความกลัวจริงๆ เพราะการทำหนังของเราต้องเผชิญทั้ง“ไฟนรกและน้ำสูง” คือการยึดพื้นที่กลางเมืองโดยเสื้อแดงตามด้วยเผาบ้านเผาเมืองในปี ๒๕๕๓ ซึ่งทำให้โรงถ่ายปิด ต้องพักการถ่ายทำถึงสองอาทิตย์ และสร้างความยากลำบากสุ่มเสี่ยงในการเดินทางมาทำงานของทุกๆคน โดยเฉพาะคุณหญิงเมฆดับ (เลดี้แม็คดัฟ) ซึ่งโดนก่อกวนเชิงลวนลามโดยการ์ดเสื้อแดงทั้งเช้าและค่ำ จนต้องย้ายไปนอนบ้านเพื่อน และครั้งหนึ่ง (๒๘ เม.ย.) ทำให้เราติดอยู่ที่รังสิต เมื่อถนนวิภาวดีรังสิตถูกตัดขาด บ่ายวันที่ทหารโดนซุ่มยิงตายในเหตุการณ์รุนแรงที่อนุสรณ์สถาน-ตลาดไท แล้วพอรอดจากไฟนรกก็ต้องผจญภัยกับน้ำสูง (โพสต์โปรดักชั่นขั้นสุดท้ายขัดข้องเพราะน้ำท่วม)
ทุกความหวาดหวั่นของเราหลั่งไหลลงในการสร้างผลงาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังได้เห็นได้ฟัง ได้ดูดซับจากโลกรอบๆตัวเราและหนังของเรา ทุกอย่างที่เรากลัว ซึมซ่านออกมากับทุกหยาดเหงื่อ ทุกรูขุมขนของเรา
ก็ไม่เป็นไร ยิ่งดีเสียอีก ในเมื่อเรากำลังทำหนังสยองขวัญกันอยู่
บางครั้ง มันทำให้ฉันต้องเปลี่ยนความคิดสำหรับบางฉาก เช่น ฉากสุดท้ายของแม่มด: สามนางกำลังนั่งดูชัยชนะของเมฆเด็ด (แม็คเบ็ธ) บนจอทีวี และตามบทพวกเธอต้องแสดงความสะใจนิยมยินดี แต่เราถ่ายทำฉากนี้รุ่งขึ้นจากวันที่ถนนเข้ากรุงเทพถูกตัดขาดโดยความรุนแรง เหล่าแม่มดที่น่าสงสารรู้สึกเศร้าใจ ไม่สามารถควานค้นหาความยินดีมาแสดง ถึงแม้ว่าในที่สุดฉันบีบคั้นความยินดีออกมาจนได้เทคหนึ่ง แต่มันรู้สึกจอมปลอม ไม่น่าเชื่อถือ สุดท้ายฉากนี้ในหนังจึงมีเพียงแม่มดที่ซึมเศร้าและรู้สึกผิด ละอายต่อมารร้ายที่พวกเธอปลุกปล้ำขึ้นมาคุกคามโลก ในลักษณะนี้ หนังของเราจึงถูกกล่อมเกลามาโดยปวงเทพมืดมัวที่มารุมเฝ้าการเกิดของมัน
การออกแบบเสียงสำหรับฉากคุกก็ได้มาจากวันนั้น ขณะที่เสียงผู้หญิงประกาศทั่ว ม.กรุงเทพให้ ทุกคนตั้งมั่นอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และ“อย่าพยายามเดินทางเข้ากรุงเทพ” กองทัพเฮลิคอปเตอร์บินวนเวียนอยู่เหนือเมฆเหนือหัวเรา เสียง ฉ็อพฉ็อพฉ็อพ ระทึกใจของมันห่อหุ้มด้วยฟ้าเมฆต่ำสีเทา ส่งเสริมให้เสียงนั้นทั้งกังวานและอุดอู้อื้ออึง โดยที่เรามองไม่เห็นอะไรเลย
*************************************
บอกให้เราเข้าใจหน่อยเถิดว่า ทำไมสิ่งนี้จึงไม่เพียงพอ? ศิลปะจำเป็นต้อง‘เป็นกลาง’และ ‘ยุติธรรม’ด้วยหรือ? (ท่ามกลางความมึนเมาของการจงใจปั่นข่าวและบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยหมอผีพีอาร์ และความรักตัวกลัวตายของนักสื่อสารมวลชน ขอถามว่าข่าวที่นำเสนอตามสื่อต่างๆ นั้น ‘เป็นกลาง’ และ ‘ยุติธรรม’ สักแค่ไหน? แทนที่จะมาเรียกร้องหาสิ่งนี้จากหนังผีทุนต่ำของเรา ทำไมคุณไม่ตั้งคำถามกับการที่หนังสือนิวส์วีคยกย่องยิ่งลักษณ์เป็นวีรสตรี--เคียงบ่าเคียงไหล่กับ อง ซาน ซู จี และฮิลลารี คลินตัน—ประมาณว่าแม่พระผู้ส่งเสริมความสมานฉันท์ และจัดการน้ำท่วมได้อย่างเก่งกาจ)
‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ คือจุดรวมฝันร้ายของเรา นี่คือมโนภาพแห่งความสยองขวัญของเรา มันเป็นหนังผีมิใช่หรือ? หนังผีสมควรเป็นเรื่องของสิ่งที่พาให้เราใจหายและหวาดผวา มันไม่ใช่รายงานข่าวหรือแม้กระทั่งสารคดี มันไม่มีหน้าที่เลคเชอร์ข้อมูลอะไรให้คุณเชื่อ มันมีไว้ให้คุณได้สัมผัสด้วยอารมณ์ความรู้สึก ก็เท่านั้นเอง เราดูดซึมยาพิษจากยุคสมัยมาถักทอเป็นภาพต้องมนต์สะกดเพื่อความสนุกเพลิดเพลินของคนดู
หนังผี-หนังสยองขวัญ จะทำหน้าที่ของมัน--คือไล่ผีและปลดปล่อยปมขมวดทางจิตให้เรา--ได้สำเร็จก็ต่อเมื่อมันไม่หลีกเลี่ยงสารพิษในผืนดินถิ่นกำเนิดของมัน แต่พร้อมที่จะหยั่งรากลึกลงไปในก้นบึ้งของพิษร้ายนั้นอย่างเต็มอกเต็มใจและเต็มที่
นอกจากนั้น ในฐานะนักทำหนังทุนต่ำที่มีปูมหลังเป็นนักข่าว ฉันอดใจไม่ได้ที่จะไม่ออกไปถ่ายภาพความวินาศสันตะโร ทั้งที่ไฟไหม้เซ็นทรัลเวิร์ลด์ยังไม่ทันดับ โดยเฉพาะโรงหนังสยามอันเป็นที่รัก พร้อมกับหน้ากากกรีกฝาแฝดแห่งการละคร ที่พักตร์หนึ่งเศร้า(โศกนาฎกรรม) และพักตร์หนึ่งหัวร่อ(ตลกหรรษา) ซึ่งผ่านกองเพลิงมาได้โดยไม่เป็นอะไรเลย เช่นเดียวกับแผ่นโปสเตอร์โฆษณาหนังรักตลกของเจนนิเฟอร์ อนิสตัน ที่กำลังฉายอยู่
ผู้กำกับงบน้อยต้องไขว่คว้า ต้องฉกฉวยทุกของถูกของฟรี ทุกโอกาสที่จะเติมความอลังการให้แก่หนัง ไม่มีทางเลยที่เราจะสร้างภาพมหากาพย์แบบนี้ขึ้นมาได้เองจากปัจจัยที่มีอยู่ ในเมื่อมันเจ๋งและเป็นของฟรี ฉันไม่อาจปฏิเสธของขวัญที่ฟ้าประทานมาให้บนถาดเงิน
ภาพหลังแทนกรีนสกรีนหลังแม่มดในฉากนั้น เดิมจะเป็นการฉายซ้ำของน้ำตกไนแองการ่าเป็นเลือด (นี่ก็ของฟรีเหมือนกัน ที่รีบคว้ามาจากการได้ตั๋วฟรีไปเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโตกับ ‘พลเมืองจูหลิง’ หนังเรื่องก่อน) แต่มันย่อมตกกระป๋องไป ในเมื่อเรามีไฟล์ภาพซากตอตะโกของเซ็นทรัลเวิร์ลด์กับหน้ากากโรงหนังสยาม
*******************************************
ส่วนการ“รื้อฟื้นแผลเก่า” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ของช่างภาพสำนักข่าวเอพี นีล ยูเลฟวิช รูปไทยมุงรอบชายในเสื้อซาฟารี ที่ใช้เก้าอี้เหล็กตีศพนักศึกษาที่ถูกแขวนคอกับต้นไม้กลางสนามหลวง เรื่องนี้ ฉันคงต้องโยนคำถามกลับมาให้ตอบกับตัวคุณเองว่า มันจำเป็นหรือไม่ที่จะท้าวความถึง 6 ตุลา มหาวิปโยค? เหตุการณ์นั้นมีชนวนอ้างอิงเป็นการแสดงละครประท้วงเช่นกัน โปรดสังเกตด้วยว่าโฟกัสในฉากนี้จับจ้องอยู่ที่ใบหน้าบรรดากองเชียร์ ไม่ใช่กับศพและชายที่ฟาดเก้าอี้ สิ่งที่ฝังใจเรามากกว่า คือคนที่เรียกกันว่าคนธรรมดา รวมทั้งเด็กๆ ที่มายืนหัวเราะและสนับสนุนยุยง
ภาพข่าวภาพนี้ ติดตาตำใจและจิตวิญญาณวัยรุ่นทึ่มๆของฉัน ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นในปี๒๕๑๙ จนกลายมาเป็นความหมกมุ่นส่วนตัวมาตลอดชีวิต ภาพนี้หลอกหลอนเราด้วยความหวาดหวั่น—แบบเด็กกลัวผี--ว่าจะถูกเข่นฆ่าโดยอันธพาลคลั่งเจ้าและลูกเสือชาวบ้าน และด้วยความรู้ซึ้งคาใจว่า คนธรรมดาอาจกลายเป็นฆาตกร และเมืองไทยกลายเป็นรวันดา๑๙๙๔ ได้ภายในพริบตาเดียว หากว่าถูกยุยั่วปั่นหัวเป็นหางโดยนักโฆษณาชวนชั่วอย่างถูกจุด
มาถึงวันนี้ แทนที่จะเป็นอันธพาลคลั่งเจ้าที่เราต้องกลัว เรามีกลุ่มคนบ้าคลั่งกลุ่มอื่นที่ไร้เหตุผลและนิยมความรุนแรงอย่างแท้จริง อันเป็นผลงานมหกรรมปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ
ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะอ้างว่าเขาเป็นซ้ายหรือว่าเป็นขวาไม่ใช่ประเด็น แต่คนลักษณะนี้ทำให้ชีวิตของเราและของบ้านเมืองไร้เหตุผลและเสียสติ ทำให้ความสงบเหือดหายและเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเยอรมันกับนาซี เราควรให้ลูกหลานทุกคนได้เห็นภาพนี้ เราควรจดจำมันไว้เสมอ ไม่ใช่เพื่อโหมไฟอาฆาตพยาบาทต่อกัน แต่เพื่อเตือนใจทุกคน รวมทั้ง‘คนดี’ อย่างที่เราคิดว่าเราเป็นด้วย ที่อาจกลายเป็นปีศาจได้ ถ้าถูกยั่วยุเกินทน
*******************************************
ส่วนเรื่องการใช้สีแดงอย่างฟุ่มเฟือยในหนัง ขอยกสองประโยคแรกจากคำนำบทละคร ‘แม็คเบ็ธ’ฉบับของคณะละครเชคสเปียร์ในพระบรมราชินูปถัมป์ (The Royal Shakespeare Company): “‘แม็คเบ็ธ’ เป็นละครโศกที่สั้นและเร็วที่สุดของเชคสเปียร์ สีของมันคือสีดำและแดง”
สิ่งนี้ เป็นคุณลักษณะที่โจ่งแจ้งของละครเรื่องนี้เสียจนเราตัดสินใจใช้ถาดสีนี้ ก่อนที่เราจะได้อ่านคำนำนั้นเสียด้วยซ้ำ---ดำสำหรับค่ำคืน แดงสำหรับเลือด และทองสำหรับอำนาจ ซึ่งเราใช้อย่างมึนเมาในความดื่มด่ำในคาราวัจจิโอ ศิลปินบาร็อคบ้าเลือดที่เราคลั่งไคล้ในการออกแบบฉากและแสง (คาราวัจจิโอเกิดหลังเชคสเปียร์ไม่นาน การมองโลกที่เต็มไปด้วยเงามืดและแสงสว่าง เส้นคมชัด สีที่ชุ่มฉ่ำ เทคนิคที่เหนือมนุษย์ ทั้งสองท่านมีเหมือนกัน และเป็นที่รู้กันดีว่าคุณวิลเลี่ยมท่านหลงใหลอิตาลี ตามแฟนตาซีของคนที่ไม่เคยมีวาสนาไปอิตาลี แต่เอามาเป็นฉากตลอดเวลา)
หากว่าไร้อคติ คุณจะเห็นได้อย่างง่ายดายว่า กลุ่มอันธพาลที่คาดหัวด้วยผ้าแดงที่แท้ก็สวมเครื่องแบบลิเกนั่นเอง: หัวโพกผ้าแดงคือเพชฌฆาต ซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลง่ายๆ ที่สมัยก่อนไม่นานมานี้ เพชฌฆาตไทยนั้นโพกผ้าแดงในการประหารชีวิตนักโทษ
ใน ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ฆาตกรในโลกของโรงละครในหลายฉากก่อนหน้านั้น รวมทั้งองค์พญายม ล้วนคาดหัวหรือคลุมหัวด้วยผ้าแดง แต่ในอีกฉากซึ่งเกิดขึ้นในโลกนอกโรงละคร เราใช้เครื่องแบบอีกประเภทสำหรับกลุ่มฆาตกรที่ฆ่าคุณหญิงเมฆดับ คือสูทเสื้อซาฟารีผ้าใยสังเคราะห์สีเทา, ดำ หรือน้ำเงิน ซึ่งเป็นชอร์ทแฮนด์ของไทยเราสำหรับลูกกะเป้ของผู้มีอิทธิพล นิยมสวมใส่โดยคนขับรถและมือปืนประจำตัวนักการเมือง เป็นต้น
*****************************************************
ต่อให้ไม่นับมรดกทางวัฒนธรรมอันนี้ ต้องยอมรับว่าสีแดงเป็นสีสากลที่หมายถึงเลือดและความรุนแรง หนังแต่ละเรื่องต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะถึงจอ กว่าจะเขียนบท กว่าจะหาทุน กว่าจะหานักแสดงครบ ฯลฯ ทักษิณมีสิทธิผูกขาดการใช้สีแดงเช่นเดียวกับที่เขาต้องการผูกขาดทุกสิ่งทุกอย่าง…อย่างนั้นหรือ?
ในการสร้างหนังผีเชคสเปียร์ของเรา ฉันปฏิเสธที่จะเล่นตามบทและกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยคนเขียนบทของทักษิณ คุณอาจเลือกที่จะทำตามกติกาเหล่านั้นที่เขากำหนดขึ้นมาลอยๆ นั่นเป็นการตัดสินใจของคุณ มันไม่ใช่เรื่องของฉัน (ถ้าโชคดี คุณอาจได้ประโยชน์จากมันก็เป็นได้ มีข่าวร่ำลือหนาหูในหมู่นักทำหนังว่า ทักษิณกำลังช็อปปิ้งหาผู้กำกับทำหนังชีวประวัติของเขา ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ย่อมไม่ใช่หนังทุนต่ำแน่นอน)
หากว่าความคิดเช่นนี้ทำให้ฉัน“ไม่เป็นประชาธิปไตย” และทำให้ยากลำบากในการนำ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ออกมาสู่สายตาโลก มันก็ช่วยไม่ได้จริงๆ
ด้วยความนับถือ
สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
กทม., ๑๙ มี.ค. ๕๕